ประเด็นร้อน

มั่นใจ 'ซื้อเรือดำน้ำ' ไม่ขัดกฏหมาย

โดย ACT โพสเมื่อ May 12,2017

 ประเด็นการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ภายใต้การอนุมัติของคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะ คสช. ยังคงมีข้อกังขาอยู่ในเรื่องของการตรวจสอบความโปร่งใส

          
ขณะที่ประเด็นในเรื่องของความจำเป็นที่กองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำนั้น ดูเหมือนจะตกไปแล้ว เพราะทางกองทัพเรือได้มีการชี้แจงอย่างชัดเจน จนทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีเรือดำน้ำได้แล้ว
          
จึงเห็นได้ว่าเสียงที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ จะอยู่ที่ความเหมาะสมของการใช้เงินในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก และเรื่องของความโปร่งใสในเรื่องราคาและกระบวนการขั้นตอนจัดซื้อจัดหา
          
ทำให้เรื่องนี้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้ามาเป็นคนกลาง รับหน้าที่พิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้
          
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง. ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือว่า จากการดูข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฎยังไม่พบนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งการจัดซื้อได้มีการริเริ่มมาหลายรัฐบาลไม่ใช่ริเริ่มจากรัฐบาลนี้ โดยมีการเปรียบเทียบหาข้อมูลมาจากหลายประเทศ จนกองทัพเรือเห็นว่าของประเทศจีนเหมาะสม ส่วนการตรวจสอบเราจะแบ่งเป็นในส่วนของยุทโธปกรณ์และส่วนของลำเรือ เรื่องของยุทโธปกรณ์หรืออาวุธเราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเราจะเข้าไปตรวจสอบเฉพาะเรื่องของลำเรือ ว่าเหมาะสม ในเรื่องการใช้จ่ายหรือไม่
          
ส่วนเรื่องงบประมาณที่ใช้ถึง 36,000 ล้านบาทนั้น มีความเหมาะสม เป็นภาระผูกพันถึงปี 2566 และมีการจ่ายเงินแต่ละงวดอยู่ที่ 700-2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินเงินงบประมาณและเป็นงบประมาณปกติของกองทัพเรืออยู่แล้ว ไม่ได้เบียดเบียนงบกลาง ไม่ถือเป็นภาระ และเรื่องงบประมาณในส่วนของบุคลากร ซึ่งก็ถือว่ามีความจำเป็น เพราะเมื่อไปรับเรือ ต้องใช้บุคลากรของเราไปขับกลับมา จึงต้องมีการฝึกอบรม
          
ถือว่าเป็นข้อดีเป็นประโยชน์ ทั้งนี้การทำจีทูจี การกำหนดให้เป็นการซื้อขายเป็นรัฐต่อรัฐ ก็เป็นผลดีต่ออนาคต เพราะจะมีหลักประกัน ที่รัฐบาลจีนจะเข้ามารับผิดชอบดูแล รับประกันในเรื่องอะไหล่ ยุทโธปกรณ์ และเมื่อตรวจสอบหลักฐานไม่พบบริษัทคนกลางมาซื้อขาย
         
ทั้งนี้ ในส่วนกรณีคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (2) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง กรณีการดำเนินการลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T จากจีน ของรัฐบาลหรือกระทรวงกลางโหม หรือกองทัพเรือ ว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบตามรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายหรือไม่นั้น
          
ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในชั้นของสำนักกฎหมายของสำนักงานผู้ตรวจฯ ตรวจสอบคำร้องอยู่ ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมผู้ตรวจฯเพื่อพิจารณา ซึ่งคาดว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะสามารถเข้าที่ประชุมผู้ตรวจฯได้ในวันอังคารที่ 16 พฤษภาคมนี้
          
อย่างไรก็ตามหากที่ประชุมผู้ตรวจฯมีความเห็นตามคำร้องว่าการกระทำดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจริง ผู้ตรวจฯ สามารถยื่นความเห็นต่อศาลปกครองให้พิจารณาได้ ทั้งนี้คงต้องรอดูว่าการพิจารณาของผู้ตรวจฯจะดำเนินการโดยเร็ว เพื่อส่งความเห็นไปยังศาลปกครองพิจารณา ก่อนที่จะมีการวางมัดจำงวดแรก 700 ล้านบาทในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ หรือไม่
          
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ อาจจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ระบุว่าการทำสัญญาระหว่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯก่อนว่า คงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะมาตรา 178 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขตแดน เกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านการค้า ที่ต้องมีผลหลังจากที่ได้ไปทำสัญญานั้นๆ เช่น การเสียดินแดน การเสียผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งการทำสัญญากับต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากจากทางสภาโดยให้มีการกำหนดเงื่อนเวลาไว้จำนวน 60 วัน
          
ส่วนการซื้อเรือดำน้ำเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลสามารถเห็นชอบได้อยู่แล้ว แต่หากถ้าในอนาคตถ้าหากมีการเปลี่ยนวิธีการซื้อเรือดำน้ำเป็นวิธีแบบการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือ บาเตอร์เทรดนั้นก็คงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์ทางการค้าหรือเสียหายทางด้านดินแดนกับต่างประเทศ แต่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนวิธีการซื้อจากการใช้เงินเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น
          
การที่เกิดความกังวลว่า การซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เป็นเพราะนายปรีชา สุวรรณฑัต ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลัง ชี้ถึงการลงนามในสัญญาระหว่างไทย กับ จีนในการจัดสร้างเรือดำน้ำจีน S26T เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมาขัดรัฐธรรมนูญส่งผลให้สัญญาฉบับดังกล่าวโมฆะ
          
ในขณะที่ทางกองทัพเรือ ก็ได้ตรวจสอบแล้วยืนยันว่าร่างสัญญาดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยก่อนหน้าที่คณะของกองทัพเรือ (ทร.) จะไปลงนามได้มีการสอบถามข้อกฎหมายอย่างละเอียดจาก สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการยืนยันว่า การไปลงนามนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องนำเข้าสู่ความเห็นชอบของสภาฯ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องอธิปไตยของดินแดน และไม่เข้าข่ายเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการผูกพันงบประมาณในวงเงินจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีหนังสือจากทั้งสองหน่วยงานยืนยันว่า การซื้อยุทโธปกรณ์ดังกล่าว มีลักษณะในการจัดหาทางการค้า และ ไม่ได้มีผลกระทบ ในเรื่องของงบประมาณโดยภาพรวม เพราะอย่างที่มีการชี้แจงว่า เป็นการผูกพันฯ บริหารจัดการงบประมาณของกองทัพเรือเอง
          
ข้อสังเกตที่ว่าต้องผ่านคณะรัฐมนตรี 60 วันก่อนที่จะไปลงนามกับคู่สัญญานั้น โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นของจาก ครม. ไปแล้วหนึ่งครั้ง ในประเด็นจองกรอบการผูกพันงบประมาณข้ามปี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2559 หลายหน่วยงานให้ความเห็นมาแล้วตั้งแต่วันนั้น จากนั้นในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ก็ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีก 1 ครั้ง เพราะเป็นโครงการที่งบประมาณเกินกว่า 1 พันล้านบาท อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ก็ได้มีนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ตามระเบียบการยกเว้นว่าด้วยการพัสดุภัณฑ์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบในเรื่องของการจัดหาด้วยเช่นกัน
          
เรียกว่าทางกองทัพเรือยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่า ไม่โมฆะแน่ เนื่องจากมีการตรวจสอบหลายขั้นตอน          สำหรับข้อสงสัยในแง่มุมกฎหมาย และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็มาตรวจซ้ำ วันพฤหัสบดี ที่ 11 พฤษภาคมนี้ ทางกองทัพเรือ ก็จะรวบรวมเอกสารในขั้นตอนสุดท้าย และคงจะได้ผลสรุปในวันนั้น          ซึ่งนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่า สตง. ก็ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้สตง.ยังจะไม่แถลงสรุปโครงการดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมจัดซื้อช่วงนี้หรือไม่ โดยจะขอใช้เวลาอีก 7 วันเพื่อตรวจทานอย่างละเอียดรอบคอบ ป้องกันครหาว่ามาเร็ว เคลมเร็ว
          
โดยวันที่ 11 พ.ค.คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในเอกสารขบวนการขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง จะนำรายงานมาเสนอ ซึ่งเท่าที่พูดคุยยังไม่เจออะไรที่เป็นปัญหา โดยคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเป็นระดับผู้ใหญ่มีทั้งระดับ 9 ระดับ 10 ได้ไล่เรียงประเด็นจัดซื้อจัดจ้าง ข้อระเบียบ ผู้มีอำนาจ เสนอครม. ผ่านสำนักงบประมาณ เท่าที่ดูกระบวนการขั้นตอนไม่พบอะไรผิดปกติ
          
"ขอเวลาอีก 1 สัปดาห์ที่เราตรวจแบบจ้องจับผิด ในประเด็นสำคัญที่สังคมตั้งข้อสังเกตุตั้งประเด็นกันไว้ ผมจะดูให้ละเอียดยังมีเวลาดูได้อีก จากที่ฟังรายงานเจ้าหน้าที่ ซี9 สองคน ซี10 สองคน รุมตรวจเอกสารขุดคุ้ย ไม่มีให้สตง.ตั้งข้อสังเกตุได้ รวมถึงการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ไม่กังวลว่าจะมีอะไรเป็นข้อบกพร่อง และกรณีค่าคอมมิชชั่นจะไม่มี เพราะเป็นจีทูจีของจริง ในงาน ซื้อเรือดำน้ำรับรู้โดยรัฐทั้งสองฝ่าย ทางรัฐบาลไทย เป็นแบ็คอัพ ให้กองทัพมีเงินจ่ายแน่นอน เป็นคำมั่นรัฐบาลมารับรู้เรื่องนี้ ไม่ได้เป็นสัญญาซื้อขายธรรมดา แต่เป็นสัญญา ผูกพันสองรัฐบาล แต่ถ้าซื้อผ่านคนกลางก็เป็นอีกเรื่อง ที่ไปโมเมจดทะเบียนบริษัทกับชาวบ้านที่ไหนก็ไม่รู้ มันเป็นจูทีจีปลอม โครงการจำนำข้าว มัน กุ้ง ถั่วลม สอบไปแล้ว รัฐบาลจีนไม่รับรู้เช่นกรณีเสี่ยเปี๋ยง คุยโม้ เป็นจีทูจี" นายพิศิษฐ์ กล่าว
          
ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวว่า การตรวจสอบทั่วๆ ไปไม่เจออะไร ในสัปดาห์หน้าสตง.จะตรวจแบบจับผิด เช่นประเด็นที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรียกร้องมาให้ตรวจสอบโดยจะขุดคุ้ยทุกประเด็นไป แต่จะไม่ตรวจในประเด็นยุทศาสตร์ ยุทธวิธี เพราะกองทัพเรือยืนยันมาตลอดถึงความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ ขอยืนยันว่าสตง.ตั้งใจขุดคุ้ยด้วยจิตวิณญานนักตรวจสอบ ในการสอบทานจะดูภาพรวมว่าซื้อแล้วเสียหายอะไรต่อระบบหรือไม่ ถ้ามีประเด็นนี้ สตง.ก็สามารถเสนอให้หยุดโครงการได้แม้จะทำสัญญาจ่ายงวดแรกไปแล้วก็ตาม

- -สำนักข่าว บางกอกทูเดย์ วันที่ 12 พฤษภาคม 2560 - -